อย. เผยข้อพิสูจน์ เรื่องข่าวส่งต่อในโลกออนไลน์ น้ำแข็งผสมฟอร์มาลิน พร้อมทั้งน้ำใส่คลอรีน

เรื่องที่มีการโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อออนไลน์ ถึงการผสมสารฟอร์มาลินลงในน้ำแข็งยูนิค เพื่อไม่ให้น้ำแข็ง ละลายเร็ว อย. ร่วมกับนักวิชาการทำการทดลอง ผลปรากฏว่า น้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินจะมีลักษณะ ขุ่นทั้งก้อนและมีกลิ่นฉุน ผู้บริโภคจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนการใส่คลอรีนในน้ำ บริโภค ก็เพื่อฆ่าเชื้อโรค ซึ่งสารนี้เป็นสารที่ระเหยง่าย จะถูกกำจัดในกระบวนการปรับคุณภาพน้ำอยู่แล้ว ชี้นำผู้บริโภคให้ซื้อน้ำแข็งพร้อมกับน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท ฉลากมีเครื่องหมาย อย. พร้อมเลขทะเบียนในกรอบ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มี การเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ถึงการผสมสารฟอร์มาลินลงในน้ำแข็งยูนิคเพื่อใม่ให้น้ำแข็งละลายเร็ว และ การใส่คลอรีนในน้ำบริโภคทุกวัน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งนั้น 
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์น้ำแข็งและน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทอย่างเข้มงวด ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ ในเรื่องความปลอดภัย สำหรับกรณีข่าวผสมสารฟอร์มาลินในน้ำแข็ง อย. ได้ประสานความร่วมมือกับ อาจารย์จากสาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการทดลองถึงลักษณะและการละลายของน้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลิน เปรียบเทียบกับน้ำแข็งธรรมดา ผลการทดลองปรากฏว่า น้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินมีลักษณะขุ่นทั้งก้อนและ มีกลิ่นฉุนของฟอร์มาลิน ในขณะที่น้ำแข็งธรรมดาจะมีส่วนที่ขุ่นอยู่ตรงกลางก้อนส่วนเรื่องของการละลาย ช่วงแรกน้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินจะละลายได้ช้ากว่า แต่เมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบว่า น้ำแข็งธรรมดาละลายได้ช้ากว่า ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ฟอร์มาลินไม่มีส่วนช่วยในการทำให้น้ำแข็งตัว กลายเป็นน้ำแข็ง และ หากในกระบวนการทำน้ำแข็งมีการใส่สารฟอร์มาลิน ผู้บริโภคสามารถสังเกตได้ อย่างชัดเจนจากลักษณะของก้อนน้ำแข็งและกลิ่นฉุน ทั้งนี้ น้ำแข็งที่จัดจำหน่ายทั่วไปนั้นจะต้องได้คุณภาพ และมาตรฐานตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำแข็ง โดยไม่อนุญาตให้มีการใส่สารฟอร์มาลิน ซึ่งเป็นสารที่เป็น อันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยเด็ดขาด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 151) พ.ศ. 2536 เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร หากตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ฟอร์มาลิน ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6(5) พบวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ต้องระวางโทษตามมาตรา 47 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ในกรณีของกลิ่นฉุน ที่ติดมากับน้ำแข็งนั้น อาจจะเกิดจากการรั่วของแอมโมเนีย ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นในกระบวนการผลิต น้ำแข็ง หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นฉุนดังกล่าว สามารถแจ้งมายัง อย. เพื่อทำการตรวจสอบต่อไปได้ ส่วนการใส่คลอรีนในน้ำ เนื่องจากกระบวนการผลิตน้ำบริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากน้ำผิวดิน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารฆ่าเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มาจาก น้ำดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการ คลอรีนเป็นสารฆ่าเชื้อที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากเป็นสารที่สามารถ ควบคุมและเฝ้าระวังการใช้ได้ง่าย และระเหยง่ายกว่าสารฆ่าเชื้อชนิดอื่น ซึ่งปริมาณคลอรีนคงเหลือในน้ำดิบ ที่ผ่านกระบวนการแล้ว ต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า 0.2 แต่ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร หลังจากนั้นน้ำดิบ จะผ่านกระบวนการปรับคุณภาพน้ำ ซึ่งคลอรีนจะถูกกำจัดในกระบวนการดังกล่าว และเมื่อนำมาผลิต เป็นน้ำบริโภค อย. ยังได้กำหนดให้น้ำบริโภคนั้น ต้องได้คุณภาพและมาตรฐานตามประกาศกระทรวง สาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทอีกด้วย รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอผู้บริโภคอย่าเพิ่งหลงเชื่อข่าวที่ส่งต่อทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจไม่ใช่เรื่องจริง การเลือกซื้อน้ำแข็ง หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียด บนฉลากให้ครบถ้วน เช่น เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก และข้อความ “น้ำแข็ง ใช้รับประทานได้” ด้วยอักษรสีน้ำเงิน ส่วนน้ำแข็งหลอดตักแบ่งขายตามร้านค้า ร้านอาหารทั่วไป ผู้บริโภค ควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งซึ่งต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหาร ประเภทอื่น โดยก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าต้องมีความใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปนเปื้อน ส่วนน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ควรเลือกซื้อโดยสังเกตจากภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด ไม่มีตะไคร่น้ำ ปิดสนิท ไม่รั่วซึม ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใส สะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการ บริโภค สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายกับ ผู้กระทำผิดต่อไป